หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy คือแนวคิดที่ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับการดูแลธรรมชาติและสังคมอย่างยั่งยืน
ดังนั้นการออกแบบนวัตกรรมกรรมตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Design for Circular Economy)เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ถือเป็นแนวทางที่ช่วยทำให้ผู้ประกอบการและนักวิจัยได้นำความรู้ทั้งศาสตร์เชิงกลด้านวิศวกรรมและศาสตร์การออกแบบดีไซน์มาร่วมกันสร้างสรรค์และออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้ตั้งแต่ต้นทาง ที่สำคัญคือนำกลับมาใช้ซ้ำได้ยาวนาน
ปิกนิก เทเบิล (Picnic Table) เฟอร์นิเจอร์ไม้สักคือตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อการใช้ประโยชน์จากวัสดุไม้สักอย่างคุ้มค่าผ่านกระบวนการผลิตที่ใช้เทคนิคทางวิศวกรรมเข้ามาช่วยเพิ่มความมั่นคงแข็งแรงของเฟอร์นิเจอร์โดยตัดขั้นตอนการใช้สารเคมีออกจากกระบวนการผลิตแถมยังส่งผลดีต่อการนำชิ้นส่วนของเฟอร์นิเจอร์กลับมาใช้งานได้ใหม่เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ
ดร.นุจรินทร์ รามัญกุล ผู้เชี่ยวชาญวิจัยกลุ่มวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการออกแบบตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ได้รับการสนับสนุนจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (Simulation)โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาแบบจำลองและออกแบบเพื่อทดสอบความมั่นคงแข็งแรงของผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกทั้งเติมเต็มเรื่องข้อมูลของผลทดสอบที่ได้มาตรฐานเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้เห็นข้อมูลรอบด้านและสามารถคิดต่อได้ว่าจะเดินหน้าไปในทางไหนที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมของตนเอง
จิรชัย ตั้งกิจงามวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัทอุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด (DEESAWAT) กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการออกแบบตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ CE ทำให้บริษัทเริ่มกลับมาคิดการพัฒนาเฟอร์นิเจอร์ใหม่โดยคำนึงถึงการออกแบบตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางการใช้งาน ไม่ใช่การออกแบบนำการผลิตตามรูปแบบเดิมเพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นดีสวัสดิ์ ในฐานะผู้ประกอบการผลิตเฟอร์นิเจอร์จากไม้สักซึ่งเป็นทรัพยากรป่าไม้ที่สำคัญ ต้องคำนึงถึงการใช้ประโยชน์และรักษาคุณค่าของไม้สักไว้ให้ได้นานที่สุดและตอบสนองการใช้งานผู้บริโภคในปัจจุบัน
สำหรับ ปิกนิก เทเบิล คือเฟอร์นิเจอร์ปิกนิกจากงานไม้สัก ที่มีการออกแบบตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจากเดิมที่เคยผลิตชิ้นงานเฟอร์นิเจอร์ โดยนำไม้สักมาแปรรูป ฝังเดือย ใส่กาวเกือบทุกชิ้นส่วนและต้องมีการไสเศษไม้ส่วนเกินออก เพื่อตกแต่งชิ้นส่วนให้เรียบสวยงาม ก่อนนำมาเข้าลิ่ม เข้าเดือยซึ่งวิธีนี้ถือเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เฟอร์นิเจอร์ถูกกำหนดให้ใช้งานแบบตายตัว และบางส่วนถูกตัดทิ้งเป็นของเสียใช้งานไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ แต่ตอนนี้ดีสวัสดิ์ เปลี่ยนแนวคิดใหม่มีการออกแบบที่คำนึงถึงการใช้งานตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางของผลิตภัณฑ์เพื่อคงคุณค่าของเฟอร์นิเจอร์และวัสดุไม้สักให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด โดยทำในลักษณะของ Modular คือการออกแบบชิ้นส่วนให้มีความใกล้เคียงกันที่สุด อาศัยการออกแบบเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากไม้สูงสุดไม่ทำแบบเข้าลิ่ม เข้าเดือยแบบเดิม
“เมื่อผู้ใช้ไม่คิดจะใช้เฟอร์นิเจอร์กลุ่มนี้แล้วไม้ทุกชิ้นส่วนที่เป็นส่วนประกอบของเฟอร์นิเจอร์ก็สามารถถอดออกและคืนกลับเป็นวัสดุตั้งต้นเพื่อไม่ให้เกิดขยะในอนาคต นี่คือหลักคิดใหม่สำหรับการออกแบบนวัตกรรมกรรมตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเป็นมิตรต่อเราและโลกด้วย”จิรชัยกล่าว แนะนำข่าวเพิ่มเติม>>> เผยโฉม เรือเต่ายักษ์ ออกแบบเป็น เมืองลอยน้ำ มูลค่าเกือบ 3 แสนล้าน